สรุปว่า เมื่อโลกนี้ยังไม่แตกสลายไปในช่วงท้ายปี ตามคำทำนายที่กล่าวขวัญถึงและโจษจันกัน เราก็ต้องใช้ชีวิตในโลกใบเก่านี้ต่อไป ด้วยการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ คือ พุทธศักราช ๒๕๕๖ และ คริสตศักราช ๒๐๑๓ เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ในโลกไม่เชื่อในคำทำนายนี้ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่ออย่างเป็นตุเป็นตะ จนถึงกับมีการเตรียมรับมือกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตบนโลกนี้ต่างก็ทยอยแตกดับลาลับจากโลกนี้ไปก่อนทุกขณะอยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะนี้ อุบัติเหตุจากความประมาทของผู้ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนระหว่างการเดินทาง ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ ยังมาเป็นเหตุปัจจัยลัดคิวและเร่งเวลาลาโลกให้กับอีกหลายชีวิต
ตราบใดที่ชีวิตยังดำเนินต่อไป โดยเนื้อหาใจความแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนๆ ชีวิตก็คงไม่มีอะไรต่างออกไปนัก คือ ในแต่ละวันแต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทำหน้าที่ตามบทบาทฐานะของตนอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหรือคตินิยมการขึ้นต้นศักราชใหม่ ก็มาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในหลายด้านอย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น การเฉลิมฉลอง การหยุดพักผ่อน และการพบปะเยี่ยมเยือนพ่อแม่ญาติพี่น้อง เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมทีมีกติกาและข้อกำหนดร่วมกันหลายอย่าง แต่ละคนจึงมีส่วนร่วมในบรรยากาศหรือกิจกรรมของเทศกาลปีใหม่ไม่มากก็น้อย นอกจากเราจะใช้เวลาในช่วงขึ้นปีใหม่ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามคตินิยมของสังคมตามที่กล่าวแล้ว ในอีกด้านหนึงนั้น ควรใช้เวลาช่วงนี้เพื่อตั้งหลักพักยกให้กับชีวิต ด้วยการหยุดพักหายใจยาวๆ แล้วตั้งสติสำรวจตรวจสอบการใช้ชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมาในแง่มุมต่างๆ ให้ถี่ถ้วนรอบคอบ การมีโอกาสพิจารณาอะไรต่างๆ อย่างมีสติ จะช่วยให้เข้าใจชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น ได้คติข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ในการนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาชีวิต ตามบทบาทหรือสถานะที่ตนเป็น ตามหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ เพื่อให้ชีวิตได้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมีความสุขและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการนำชีวิตเข้าใกล้เป้าหมายที่ได้วางไว้ กิจกรรมต่างๆ ที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่นั้น จึงอาจเป็นที่มาของคุณหรือโทษก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเกี่ยวข้องในด้านไหน ดังนั้น สำหรับบางคน ที่มีสติรอบคอบ รู้จักประมาณตนเอง ช่วงปีใหมู่ก็จะ็เป็นช่วงแห่งการพักผ่อนและเตรียมความพร้อม เพื่อนำพาชีวิตไปพบกับสิ่งดีๆ ในปีหน้า แต่สำหรับบางคน ที่ปล่อยใจจนเลยเถิด และไม่มีสติควบคุมตนเอง ช่วงปีใหม่ก็อาจเป็นช่วงแห่งการใช้ชีวิตที่ขาดสติมากที่สุด มากกว่าช่วงใดๆ ของปีก็ได้ ความสุขที่หายไป (หายไปไหนหนอ ?....) เหนื่อยใช่ไหม ล้าใช่ไหม ท้อใช่ไหม หาความสุขในชีวิตไม่เคยเจอใช่ไหม ผิดหวังอยู่เรื่อยใช่ไหม ความรู้สึกเช่นว่านี้ ไม่มีทีท่าว่าจะหายไปจากชีวิตนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ ลองตอบคำถามเหล่านี้ด้วยความตั้งใจ และซื่อตรง อาจจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้..... - เราดิ้นรนเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินกำลังหรือเปล่า? - จุดมุ่งหมายในชีวิตที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้มาอยู่ในขณะนี้ ให้ความสุขได้จริงหรือเปล่า เป็นเพียงสิ่งเดียวในชีวิตที่ให้ความสุขเราหรือเปล่า? คิดว่า เมื่อได้มันมาแล้ว เราจะมีความสุขแท้จริงไหม หรือเพียงคิดไปเอง เชื่อไปเอง - จากคำถามที่แล้ว ถ้าใช่ ที่เราไปไม่ถึงความสุขนั้นเสียที เพราะเรามีข้อบกพร่องใดๆ หรือเปล่า ที่ทำให้ไปไม่ถึง เช่น ขี้เกียจเกินไป ขยันไม่พอ งอมืองอเท้า มัวแต่นั่งนอนวาดวิมานในอากาศ - เราเรียกร้องจากผู้อื่นมากเกินไปไหม หรือเรียกร้องแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคยเป็นผู้ให้เลยหรือเปล่า? ถ้าใช่ ก็แน่นอนล่ะ ไม่มีใครอยากมีน้ำใจ กับคนที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียวตลอด - เราเคยมองข้อบกพร่องของตนเองบ้างไหม หรือมัวแต่โทษผู้อื่น โทษสังคม โทษสิ่งรอบข้าง - สิ่งที่เราดิ้นรนไขว่คว้านั้น เมื่อได้มาแล้ว มันทำให้เราเกิดความสุขได้นานไหม หนึ่งชั่วโมง ครึ่งวัน หนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หนึ่งปี ........ หรือ เพียงเหมือนเด็กบางคน ที่เบื่อของเล่นใหม่ภายใน หนึ่งวัน แล้วขอของเล่นอันใหม่อีก....... - เพดานความหวังของเราสูงเกินไปไหม ถ้าใช่ ลองลดเพดานความหวังนั้นลงอีกสักนิดหนึ่งพอได้ ไหม - เราเรียกร้องจะเอาอย่างเดียว โดยไม่ยอมเสียสละบ้างเลยหรือเปล่า - เราตีค่าความสุขสูงเกินไปไหม จนมองข้ามความสุขอื่นๆ ที่อยู่ภายในตัวเอง หรือที่อยู่รอบตัวอยู่แล้ว ลองมองหาบ้าง เมื่อเจอแล้ว สุขใกล้ตัวอาจจะมีค่าล้ำกว่าสุขที่มีอยู่แต่ในความคาดหวังว่าจะได้ (ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน) (ก่อนอ่านคำถามข้อต่อไป ลองมีสติรู้ลมหายใจเข้า ลมหายออกใจ หนึ่งครั้ง) - เราสร้างมาตรฐานการดำเนินชีวิตทางวัตถุสูงเกินจำเป็นไหม จนทำให้ต้องมีข้อเงื่อนไข บีบคั้นชีวิตอยู่ตลอดเวลา อย่างไม่รู้ตัว ถ้าใช่ ลองหัดจมให้ลง ปลงให้ตก สัมผัสไอดิน กลิ่นทราย บ้าง - ลองสังเกตว่า ชีวิตถูกสิ่งที่เรียกว่า “วัตถุแห่งความสุข” หลอกให้วิ่งหา จนเมื่อได้เจ้าความสุขนั้นมาแล้ว ก็ยังถูกหลอกให้วิ่งหาความสุขอื่นๆ อีกต่อไปไหม? - การแสวงหาความสุขของเรา “ชอบธรรม” พอที่จะไม่นำความทุกข์ย้อนกลับมาเป็นของแถมที่ไม่ต้องการให้ในภายหลังไหม? - เราเคยมองสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหา” “ความทุกข์” “ความสุข” “เหตุการณ์ สถานการณ์ต่างๆ” “บุคคลต่างๆ” อย่างรอบด้าน หลายแง่มุมไหม ทั้งด้านบวก ด้านลบ มุมมองของเรา มุมมองของคนอื่น? - เรามีบุคลิกใจเร็วด่วนได้ ไม่รู้จักรอเวลาที่เหมาะสมหรือเปล่า? - หากเรามั่นใจว่า เหตุการณ์บางอย่างเราเป็นผู้ถูกกระทำ ลองมองย้อนกลับไปดูว่า เราเคยเป็นผู้กระทำต่อคนอื่นบ้างไหม ? หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังเป็นไปนี้ เราอาจกำลังกระทำคนอื่น แต่เข้าใจไปว่าถูกคนอื่นกระทำก็ได้ - เราพยายามบังคับใครต่อใคร ให้เป็นไปตามที่เราต้องการมากไปไหม หรือเราพยายามบังคับตัวเองให้เป็นไปตามที่คนอื่นต้องการเกินไปไหม? - เวลาที่ทำความดี ในใจของเรายังเรียกร้องให้คนยกย่องสรรเสริญ อยากให้คนอื่นเห็นหรือเปล่า เรายังหวังผลตอบแทน หรือคาดคั้นจะเอาผลตอบแทนให้ได้หรือเปล่า? ถ้าใช่แสดงว่าเรายังเป็นคนดี ที่ขี้น้อยใจอยู่ เป็นคนดีแบบมีเงื่อนไขอยู่ ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถสัมผัสคุณค่าแห่งความดีที่แท้จริงได้ - เราลืมความจริงไปหรือเปล่าว่า ไม่มีใครสมหวังดังใจทุกอย่างในโลกนี้ คนส่วนใหญ่ล้วนแต่ผิดหวัง ไม่สมปรารถนาทั้งนั้น การดิ้นรนให้ชีวิตสมหวังสมอยากสมปรารถนา จึงไม่ใช่ทางจบเรื่องราวความทุกข์ความวุ่นวายได้ แม้จะเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทำได้ยาก แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า “การหยุดความอยากได้ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกขํ ชินาติ” อ่านคำถามจบแล้ว ลองมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก อีกสักครั้ง ด้วยความผ่อนคลาย ปล่อยใจให้สบาย วางภาระไว้ก่อน แค่เพียงหนึ่งช่วงลมหายเข้าออก ...... นี่อาจเป็นหนทางที่ง่ายๆ ของการเรียกความสุขกลับมาำก็ได้ พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่กล่าวได้ว่ามีแบบฉบับเฉพาะตัว ในฐานะที่เป็นชาวพุทธไทย การมองภาพพระศาสนาในเมืองไทยอย่างเข้าใจ จนสามารถมองเห็นองค์รวมทั้งหมดได้ จะทำให้สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติตัวได้อย่างสอดคล้อง และถูกต้องเหมาะสม จนได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่สถานะ
เริ่มจากองค์ประกอบด้านรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุด อันดับแรก จะเห็น ศาสนพิธี หรือพิธีกรรมทางศาสนา เริ่มตั้งแต่ พิธีสมาทานศีล การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พิธีทำบุญต่างๆ นอกจากนั้นยังมี ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนปฏิบัติ ศาสนพิธี เป็นจุดเริ่มแห่งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ศาสนวัตถุ เป็นประจักษ์พยานของการปรากฏของพระศาสนาในทางรูปธรรม เช่นพระพุทธรูป ที่จารึกพระธรรม รวมไปถึงโบราณวัตถุที่แสดงการสืบทอดของพระพุทธศาสนา ศาสนสถาน เช่น วัดวาอาราม สถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นต้น เป็นที่รวมกลุ่มกันแห่งพุทธศาสนิกชน เพื่อประกอบกิจทางศาสนา ศาสนธรรม คือ หลักการของพระศาสนาที่เป็นหลักปฏิบัติ เป็นใจความสาระ ของพระศาสนา ศาสนบุคคล คือ พุทธบริษัท ผู้นับถือพระศาสนา ปฏิบัติกิจของพระศาสนา ปฏิบัติตามหลักธรรมในพระศาสนา ศาสนปฏิบัติ คือ การนำเอาศาสนาธรรม มาปฏิบัติในชีวิตจนเห็นผล สรุปว่า พุทธศาสนิกชน คือ ศาสนบุคคล ผู้อาศัย ศาสนพิธี เพื่อเชื่อมโยงนำชีวิตเข้าหา ศาสนธรรม แล้วเรียนรู้ศาสนธรรม นำไปสู่ ศาสนปฏิบัติ โดยมี ศาสนวัตถุ เป็นประจักษ์พยานทางรูปธรรม ที่เห็นและจับต้องได้ เป็นประตูเริ่มแรกสำหรับการเริ่มต้น หรือสำหรับผู้เริ่มต้น เข้าหาพระศาสนา และมี ศาสนสถาน เป็นสถานที่ประกอบกิจในพระศาสนา ดังนั้น โดยอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ภาพรวบยอดของพระศาสนา จะปรากฏอยู่ที่ตัวศาสนบุคคลในพระศาสนา ที่ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่ถูกต้องตรงตามธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งธรรม ที่พระศาสดาทรงประทานไว้ คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เรียบร้อย ไม่เป็นไปเพื่อก่อทุกข์โทษ ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตน และผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขอันยั่งยืน ของตนเองและผู้อื่น การมองภาพรวมของพระศาสนาได้ จะทำให้เข้าใจประโยชน์และความจำเป็นขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกื้อกูลและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา โดยไม่แยกส่วนหรือดูดายดูแคลนส่วนหนึ่งส่วนใด จะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม จุดสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยงองค์ประกอบของพระพุทธศาสนาให้ครบส่วน ไม่หยุดหรือจบเพียงในส่วนศาสนพิธี ศาสนสถาน หรือศาสนวัตถุเท่านั้น แต่ควรพยายามเชื่อมโยงหรือยกระดับเข้าหาศาสนธรรม และศาสนปฏิบัติ โดยมีศาสนบุคคลเป็นแกนกลางในการประสานทุกส่วนเข้าด้วยกัน เนื่องจากทุกองค์ประกอบล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น การมองภาพพระศาสนาในประเทศไทยด้วยความเข้าใจในองค์ประกอบเหล่านี้ จะทำให้สามารถประยุกต์และประสานวิถีไทยให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา จนพัฒนาศาสนบุคคลให้มีคุณภาพ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้กับประเทศและสังคมได้อย่างเต็มที่ ความเกลียดชัง พังโลกให้พินาศ ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุแห่งความพินาศของโลกไว้ด้วยหลักพุทธภาษิตว่า อรติ โลกนาสิกา ความเกลียดชัง เป็นเหตุให้โลกพินาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความเกลียดชังนั้น เป็นสาเหตุแห่งความวุ่นวายและพินาศย่อยยับของโลกใบนี้
ความเกลียดชัง เป็นความรู้สึกที่รับใช้อคติ ความริษยา ความแข่งดี การยึดมั่นในทิฐิ และเป็นที่มาของความความขัดแย้ง ความรู้สึกแบ่งแยก ความแตกสามัคคี ความเกลียดชังทำให้เกิดการหาทางทำลายล้างคู่กรณีในที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้น โลกซึ่งเป็นสถานที่รองรับความขัดแย้ง การแบ่งแยก ขาดความสามัคคี และเต็มไปด้วยพฤติกรรมแห่งการทำลายล้างกันในลักษณะต่างๆ อันมีสาเหตุจากความเกลียดชังของบุคคลบนโลก จึงเป็นโลกที่นับถอยหลังไปสู่ความวิบัติย่อยยับลงทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอก หรือโลกภายใน โลกภายนอก ได้แก่ กลุ่มสังคม ทั้งในระดับนานาชาติ ประเทศชาติ องค์กร หน่วยงาน ชุมชน หรือ ครอบครัว เมื่อความเกลียดชังเข้าครอบงำแล้ว ความเกลียดชังจะทำให้จิตใจ มืดมนและคับแคบ จนละเลยและลืมถึงประโยชน์สุข ซึ่งเป็นจุดหมายร่วมกัน ยิ่งถ้าหากความเกลียดชังนั้น ขยายไปสู่วงกว้าง สภาพของสังคมนั้น ก็จะไม่ต่างอะไรกับลักษณะที่เรียกกันว่า ไก่ที่จิกกันเองในเข่ง เพื่อรอเวลาที่จะถูกนำไปเชือด จึงอนุมานได้ไม่ยากว่า โลกที่มีลักษณะเช่นว่านี้ มีแต่จะถอยหลังไปสู่ความวิบัติล่มจมเท่านั้น โลกภายใน ได้แก่ กายใจ ของผู้ถูกความเกลียดชังครอบงำ ก็จะย่อยยับพินาศจากประโยชน์สุข หรือความเจริญก้าวหน้าที่ควรจะได้รับ เพราะเมื่อใจถูกความเกลียดชังครอบงำแล้ว แทนที่ผู้นั้นจะมีแก่ใจคิดเรื่องดีๆ ทำเรื่องดีๆ เพื่อพัฒนาตนพัฒนาชีวิต ก็จะพยายามหาทางเพ่งโทษจับผิด หาช่องทางทำลายล้าง เอาชนะคะคาน จิตใจจึงมีแต่จะปั่นป่วนรุ่มร้อนกระวนกระวายตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้ามุ่งในทางธรรมนั้น ความเกลียดชังจะทำให้พบกับความพินาศอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ ความพินาศจากคุณงามความดี ความเกลียดชังบางอย่าง มีความดีหรือความถูกต้อง ที่มีรากฐานจากความยึดมั่นในทิฐิ เป็นเหตุผลรองรับ ความเกลียดชังชนิดนี้ จะถูกปกปิดด้วยข้ออ้างของความดี ความถูกต้อง จนเจ้าตัวมองไม่เห็นหน้าตาแห่งความเกลียดชังที่ซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน ทำให้ทั้งๆ ที่คิดว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่ก็หารู้ไม่ว่าตนกำลังรับใช้ความเกลียดชังอยู่อย่างไม่รู้ตัว ดังนั้น ความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้จะชื่อว่าเป็นไปด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้ผู้อื่นทำหรือเชื่อในสิ่งถูกต้องเช่นตน แต่หากกระทำไป โดยมีความเกลียดชังกุมบังเหียนอยู่ภายในเช่นนี้ จะไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้เลย รังแต่จะเพิ่มความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นไป มีหลักการหลักธรรมอยู่หลายอย่าง ที่สามารถนำไปพิจารณาปฏิบัติเพื่อสลาย หรือคลายความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเกลียดชังผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นเกลียดชังก็ตามได้แก่ - หลักการเมตตา และให้อภัย - การทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในแต่ละด้าน แล้วยอมรับข้อจำกัดในเรื่องนี้ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ หรือจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและเหตุปัจจัยอื่นอีกมากในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง - หลักการมองประโยชน์สุขส่วนรวม หรือมองเป้าหมายร่วมกัน ไม่เอาเรื่องเล็ก มาทำให้เสียประโยชน์ใหญ่ที่จะพึงได้รับ - การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การนึกถึงอกเขาอกเรา - การลดราวาศอก การประนีประนอม การอะลุ่มอล่วย ดังคำที่ว่า ยอมไม่เป็นก็เย็นไม่ได้ - หลักการประสานประโยชน์ พบกันครึ่งทาง หรือ ถอยหลังคนละก้าว - หลัก พุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความตระหนี่ ด้วยการให้ เอาชนะความไม่ดี ด้วยความดี ความชนะการพูดจาเหลาะแหละ ด้วยการพูดแต่คำสัจจริง” - แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำใจได้ยาก ในสถานะการณ์แห่งความเกลียดชัง แต่พึงระลึกถึงความจริงว่า ศัตรูที่แท้จริงของเราคือ ความเกลียดชัง หาใช่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นความพินาศของโลกใบนี้ที่มนุษย์อาศัยอยู่ มาเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แล้วก็จากไป แต่ภัยพิบัติจากความพินาศของโลกคือสังคมและจิตใจ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และก่อภัยอันตรายได้อย่างยืดเยื้อ ตราบใดที่มนุษย์ปล่อยให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำ แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทำให้ต้องมีเรื่องกระทบกระทั่ง และประสบเหตุให้เกิดความเกลียดชังจนได้ ไม่ว่าจะถูกเกลียดชัง หรือเกลียดชังผู้อื่น แต่การระมัดระวังและรู้เท่าทันความเกลียดชัง จะเท่ากับเป็นการช่วยโลกคือสังคมภายนอก และโลกคือชีวิตจิตใจภายใน ไม่ให้พบกับพินาศย่อยยับเพราะความเกลียดชัง ความผันผวนแปรปรวนทางธรรมชาติ หลายครั้ง เป็นเหตุก่อภัยพิบัติที่รุนแรง คร่าชีวิตของมนุษย์และสัตว์ พร้อมทั้งทำลายทรัพย์สินไปอย่างมหาศาล สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับผู้ที่ประสบมหันตภัยทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เหล่านั้น
ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก การตั้งจิตส่งความปรารถนาดี และแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ปรารถนาจะให้ผู้ประสบชะตากรรมที่เลวร้ายเหล่านั้น พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนโดยเร็ว เป็นเรื่องที่ควรกระทำ หรือหากพบช่องทางที่จะแสดงออกซึ่งความเห็นใจ และการช่วยเหลือได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรรีรอเช่นเดียวกัน น่ายินดี ที่ท่าทีจากหลายประเทศทั่วโลก ต่อเหตุการณ์มหันตภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแก่ประเทศผู้ประสบภัย เป็นไปในทิศทางดังที่ว่า แสดงให้เห็นว่า โลกนี้ ยังคงเป็นโลกของมนุษย์ ที่มีมนุษยธรรมค้ำจุนอยู่ และเป็นโลกที่มีความหวังว่า จะไม่ใช่เป็นโลกมนุษย์เฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่มีมนุษยธรรมภายในใจรองรับอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ เป็นเหมือนมาตรวัดคุณภาพ ที่รับประกันสวัสดิภาพโดยภาพรวมของมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ธรรมชาติมนุษย์ทั่วไป มักจะมีความกรุณา เห็นใจต่อผู้ประสบทุกข์เสมอ แม้แต่ศัตรูคู่แค้นที่โกรธเกลียดกันมานาน หากพบว่าคู่กรณีกำลังย่ำแย่หนักๆ ถ้าไม่ใช่คนที่มีจิตใจหยาบหรือความแค้นไม่รุนแรงฝังรากลึกเกินไป ความเคียดแค้นที่เคยมีมาก็อาจจะหลุดหายไปได้ไม่ยาก หรืออย่างน้อยความรู้สึกเช่นว่าก็อาจจะลดระดับลงบ้าง ภัยพิบัติที่รุนแรงทั่วโลกทุกวันนี้ แสดงตัวอย่าง ของความไม่แน่นอนของชีวิตบนโลกใบนี้ หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชีวิตนอกจากจะไม่สามารถดำรงอยู่บนโลกนี้ได้อย่างยั่งยืนยาวนานแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยรอบด้านที่จะมาตัดรอนให้สั้นเข้าเสียอีก ในมุมมองแบบพุทธต่อเรื่องนี้ คงจะไม่ใช่การรับรู้เหตุการณ์แล้ว เกิดความวิตกกังวลจนจิตตก แต่ควรเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยทำให้ได้ข้อคิดบางอย่าง เช่น ๑. ควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อความปลอดภัยทางกายภาพ และความปลอดภัยทางจิตใจ ให้พร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด เพราะต่อไปนี้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะแม้จะอยู่ไกล ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้รับผลข้างเคียงแง่หนึ่งแง่ใดเสมอ ๒. ควรเห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง ด้วยใช้เวลาในชีวิตให้คุ้มค่า และอย่างสร้างสรรค์ ใช้ชีวิตอันเป็นทุน ให้เกิดกำไร คือ ความสุขและสาระที่ยั่งยืน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเรื่องให้ต้องเสียดายหรือเสียใจภายหลัง ๓. เห็นคุณค่าของเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอันเป็นที่รัก และใช้เวลานั้นให้สมค่า จะได้ไม่มีคำว่า สายเกินไป มาทำให้ปวดใจทีหลัง เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะจอดที่สถานีโลกนี้ นานแค่ไหน อาจจะอีกไม่กี่ปี ไม่กี่เดือน ไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น บุคคลอันเป็นที่รัก เปรียบเหมือน ผู้ที่มาพบกันชั่วคราวระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตีตั๋วเดินทางต่อไปตามทิศตามทางของแต่ละคน การฝึกหัดให้จิตเกิดความเมตตา อันดับแรกต้องเริ่มต้นจากความเมตตาต่อตนเอง ให้ได้และให้เป็นเสียก่อน และก่อนจะเมตตาตนเองได้ เราต้องมองจนเห็นชัดเจนด้วยใจจริงๆ เสียก่อนว่า ความมุ่งร้าย ความโกรธ ความเกลียด ทำให้เราเป็นทุกข์และน่ารังเกียจแค่ไหน
หากเรารักตนเองพอ เราจะไม่ปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ จนด่วนสนใจแต่ว่า เขาทำให้เราโกรธ หรือเราโกรธเขา แต่เราจะสนแต่ว่า ความโกรธ ความเกลียด กำลังสุมใจให้ทุกข์ สติและความอดทนจะเกิด จนสามารถเข้าใจความจริงนี้ได้พอ ที่จะไม่ยอมปล่อยให้ใจเป็นทุกข์ แม้หากยังไม่สามารถเมตตาต่อคู่กรณี หรือให้อภัยได้ในเดียวนั้น อย่างน้อย เราก็จะไม่เพิ่มเชื้อให้ความโกรธเพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้น จนโกรธกราดไปทุกเรื่องทุกคน นี่เป็นแบบฝึกหัดเริ่มต้น ของความเมตตาตนเอง หรือการปรารถนาให้ตนเองมีความสุข ที่สำคัญ หากไม่ฝึกความเมตตาเอาไว้เสมอในสถานการณ์ปกติ เราจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์แห่งความกระทบกระทั่ง ที่กำลังครุกรุ่นอยู่ได้เลย เพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด น้ำแห่งเมตตาในใจที่แห้งขอด ย่อมแพ้ไฟแห่งโทสะ ที่กำลังโหมลุกไหม้ฉันนั้น ดังนั้น การฝึกจนสามารถสัมผัสกับความสุขแห่งเมตตาได้จนเห็นคุณค่าของความเมตตา ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น หรือเห็นได้ว่า ความเมตตา และการให้อภัยต่างหากที่เป็นคุณต่อตน ในขณะที่ความโกรธ การจองเวร เป็นทุกข์โทษทำให้ใจเป็นทุกข์รุ่มร้อน แล้วพยายามหัดสร้างความเมตตาผ่านทางคำพูด การกระทำ และทางใจ หัดวางท่าทีต่อโลก ต่อบุคคล ต่อสัตว์ บนพื้นฐานของความเมตตาอยู่เสมอ ดังนี้ ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ กับบทเรียนแห่งการเผชิญกับความโกรธในสถานการณ์จริงได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ รายรอบชีวิต จึงมีปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเป็นไปให้เห็นอยู่ มีตอนเช้า มีตอนเย็น มีความมืด มีความสว่าง มีความสุข มีความทุกข์ มีความดีใจ มีความเสียใจ มีความเป็นหนุ่มสาว มีความแก่ชรา มีความแข็งแรง มีความเจ็บป่วย มีความสมหวัง มีความผิดหวัง มีการเกิดขึ้นของชีวิต มีการล้มหายตายไป ฯลฯ เมื่อสังเกตปฏิกิริยาทางใจของเรา เราจะเห็นว่า ความไม่แน่นอน เหล่านั้น มีทั้งในส่วนที่เข้าทางหรือตรงกับความต้องการของเรา และคัดค้านกับความต้องการ หรือไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ แต่ชีวิตเคยชินและยึดติดกับความเปลี่ยนแปลงที่ตรงกับความต้องการ และรู้สึกผิดหวังมาก เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ฝืนกับความ ต้องการ สังเกตจะเห็นว่า มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่แม้ไม่ตรงกับความต้องการของเรา แต่เมื่อเรายอมรับได้ ก็ทำให้ใจไม่เป็นทุกข์ แต่หลายอย่างเรายอมรับไม่ได้ และฝืนที่ให้เป็นไปตามต้องการให้ได้ อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ธรรมชาติ ก็ใช่ว่าจะอยุติธรรม ต่อเราเสมอไป เพราะมีความจริงอยู่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย หากสามารถสร้างเงื่อนไขได้พ้องกับผลที่ต้องการ ใครก็สามารถให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามต้องการได้ แต่ข้อยกเว้นนี้อาจไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นนัก หากเราใจร้อน และปล่อยให้ความอยากวิ่งนำหน้า หากรอไม่ได้ที่จะให้สิ่งต่างๆ ค่อยๆ คลี่คลาย หากรอไม่ได้ที่จะให้เหตุปัจจัยต่างๆ มันพรั่งพร้อมเสียก่อน หรือหากเพียงแต่คิด แต่ไม่ยอมลงมือทำการ อีกทั้งหากลืมไปว่า สติปัญญา และความพร้อมส่วนตัว ของตนเองนั้นมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถบังคับ หรือสร้างเงื่อนไข ทุกอย่างได้เสมอไป เราจึงมักเกิดอคติ หรือยอมรับความจริงไม่ได้อยู่ดี หากความเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ เราควรเคารพต่อกฎเกณฑ์ที่ว่า ทุกสิ่งไม่อาจเป็นไปตามที่เราต้องการได้เสมอไป สำหรับสิ่งที่จะเป็นไปตามที่เราต้องการได้นั้น ก็ต้องรอความประจวบเหมาะ ทั้งเรื่องของเวลา และเงื่อนไขอื่นๆ ดังนั้น ท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ รายรอบตัว จึงมีผลต่อทัศนะคติการใช้ชีวิตของเรา การมีท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้ ไปในทางที่ผิด จะทำให้ดำเนินชีวิต อยู่บนฐานแห่งความประมาท ไม่อยู่ในแนวทางแห่งสติปัญญา ที่จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี หรือสามารถจัดการความทุกข์ และรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ อารมณ์ด้านลบจะประดังเข้าหา ไม่ว่าจะเป็นความเกลียด ความกลัว ความว้าเหว่ ความโศกเศร้า สารพัด ในทางกลับกัน การมีท่าทีที่ถูกต้อง ต่อความเปลี่ยนแปลง แปรปรวนเหล่านี้ จะสอนให้รู้จักใช้ชีวิตได้ีอย่างลงตัว ทั้งชีวิตส่วนตัว การปรับตัวอยู่ในสังคม และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว สามารถดำเนินชีวิตไปตามบทบาทและหน้าที่ ในทางที่จะทำให้ชีวิตประสบความสุข ความสำเร็จ และความราบรื่นได้มากที่สุด ทั้งยังพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปดังที่คาดหวังตั้งใจ ได้อย่างไม่ผิดหวัง และพร้อมจัดการกับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นไปดังหวังได้มากที่สุด แต่ละวัน เราจะได้รับบทเรียนชีวิตอยู่สองข้อ คือ ความพอใจ และไม่พอใจ ที่ผ่านเข้ามาทางกายหรือให้รับรู้ทางกาย และทางความรู้สึกภายใน วิธีศึกษาบทเรียน คือ หมั่นสังเกตให้เห็นว่ามา เห็นว่าไป เห็นว่ารุนแรง เห็นว่าเบาลง เห็นว่าทนได้ยาก เห็นว่าพอทนได้
การเห็นเป็นอย่างๆ ไป จะเป็นทางให้สามารถค่อยๆ มองเห็นความจริง ของความไม่แน่นอน ไม่มีเจ้าของ ไปทีละน้อย เป็นขณะๆไป จนจิตค่อยๆ ยอมรับ แม้จะยังไม่สามารถเห็นอย่างชัดเจน จนจิตยอมรับตามจริงได้อย่างเต็มที่ แต่ก็จะได้รู้ลู่ทางแห่งการศึกษา สภาพทางกาย และสภาพความรู้สึกภายใน ตามความเป็นจริง ที่จะทำให้ค่อยๆ ถ่ายถอนอุปาทานความยึดมั่นสำคัญผิด ออกไปได้ สังเกตต่อไปว่า ถ้าไม่เห็นตามที่มันเป็นทุกข์จะเพิ่มขึ้น ถ้ายอมรับตามเป็นจริงได้ ทุกข์จะลดลง เราจะสังเกตเห็นธรรมชาติแห่งอัตตา ของตนเองว่า เป็นอย่างไร คือ การดิ้นรนผลักไส อารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ (อยากให้ไป) กอดรัดอารมณ์ที่น่าชอบใจ (อยากให้อยู่) คุณภาพของสติ ปัญญา จะทำให้เราศึกษาบทเรียนเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น คุณภาพของขันติ จะทำให้เราไม่หนีเรียน จนสอบตก ผลก็คือ การจมอยู่กับกองทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อชีวิตเริ่มต้น ความจำเป็นแห่งธรรมะก็เริ่มขึ้น
ธรรมะ คือ หลักความจริงของชีวิต และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักความจริงนั้น ตลอดระยะเวลา แห่งความเป็นไปและเปลี่ยนแปลงของชีวิต แห่งเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ทั้งรอบตัวในตัว ที่วนเวียนผันผ่านเข้ามาในทางชีวิต เพื่อให้ชีวิตเริ่มต้น ดำเนินไป และจบลง อย่างถูกทาง มีธรรมะระดับต้น เพื่ออยู่ในโลกได้อย่างราบรื่น รื่นรมย์ ไม่ขวางโลก ไม่รกโลก มีธรรมะระดับสูง เพื่ออยู่ในโลก อย่างเข้าใจโลก ไม่แบกโลก ไม่ถูกโลกทับ และหากต้องจากโลกนี้ไป ก็ไม่อาลัยในโลก บางครั้ง ขณะที่ร่างกายสามารถเดินเหิน หรือไปไหนมาไหนได้อย่างที่ต้องการ แต่ใจด้านใน กลับรู้สึกถึงแต่ภาวะที่แสดงความคับข้อง อึดอัด ติดตัน คับแคบ
อารมณ์ด้านลบต่างๆ เช่น ความโกรธเกลียด ความอาฆาต ความริษยา พยาบาทเปรียบเหมือนกำแพงขังใจไว้ จนใจรู้สึกได้แต่ความอึดอัดคับแคบกลางอก ดังวลีที่ว่า ไม่สบายอกไม่สบายใจ แม้เราจะรู้ถึงภาวะเช่นนี้อยู่เต็มอก และปรารถนาจะขับไล่อารมณ์ร้ายเช่นนี้ออกไปจากใจ แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ก็ราวกับอยากจะกอดความรู้สึกเหล่านี้ไว้เต็มอกเช่นกัน เป็นเรื่องที่แปลกแต่จริง ที่เราไม่อาจผลักสิ่งที่มีพิษภัยต่อชีวิตจิตใจออกไปได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ประการแรก เรามีท่าทีเดิมๆ ต่ออารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น นั่นคือ การด่วนมองสาเหตุที่มาของอารมณ์ที่เป็นปัญหาต่อจิตใจนั้นๆ ว่าอยู่ภายนอกตัว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ หรือบุคคลใดๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งแม้จะจริงก็ตาม แต่ก็ทำให้เราข้ามช่วงตอนสำคัญไป นั่นคือ ช่วงตอน แห่งการยอมรับว่า เราเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เปรียบเหมือน ในขณะนี้เนื้อตัวของเรากำลังสกปรก หรือเลอะเทอะ เรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ การรีบชำระล้างทำความสะอาด ไม่ใช่การเที่ยวเพ่งโทษหรือเอาผิดว่า ใครมาทำให้เนื้อตัวของฉันเลอะเทอะ แม้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น ในบางเรื่อง นั่นก็เป็นเรื่องภายหลัง เพราะการด่วนมองหาเหตุนอกตัว ด้วยการโทษบุคคลหรือเหตุการณ์ภายนอกนั้น หาได้ทำให้อารมณ์ในขณะนั้นดีขึ้น หรือคลี่คลายได้เลย ที่สำคัญคือ การด่วนวิ่งออกนอกตัว ทำให้เราไม่สามารถมีหลักภายในให้เกาะ จนตั้งมั่นพอ ที่จะคิดหาทางไปแก้ไขเหตุการณ์ภายนอก หรือรับมือกับบุคคลภายนอกได้ ประการต่อมา เพราะเราถูกหลอกให้วิ่งตามอารมณ์ ถูกหลอกให้เห็นว่าเรื่องราวรายละเอียดแห่งความนึกคิดเหล่านั้น เป็นจริงเป็นจัง โดยไม่สามารถตั้งตัว หรือรู้ทันได้เลยว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นภายในขอบเขตกายใจของเราคนเดียวเท่านั้น ในขณะที่เราเห็นว่า ทุกคน ทุกเรื่องราว ในห้วงความคิดล้วนโลดแล่นและเป็นไปครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโลกทั้งจักรวาล เมื่อเป็นอย่างนี้ เหมือนเราถูกหลอกให้วิ่งออกจากสาเหตุหลักของปัญหา กรอบในการมองปัญหาและจัดการกับอารมณ์ จึงกว้างขวาง ยุ่งยาก จนตามแก้ได้ยาก เพราะเราจะตามแก้ไปทุกคน ทุกเรื่อง ทุกราว ตามแก้ไปทั้งโลก ทั้งจักรวาล ทั้งที่ ในความเป็นจริงแล้ว การออกจากปัญหาต้องเริ่มต้นภายในกรอบกายใจนี้ หรือจะกล่าวให้ถูกต้องจริงๆ เราสามารถแม้กระทั่ง จบเรื่องแย่ๆ ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แม้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ แต่นั่น ไม่ควรถือเป็นเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้เราเริ่มต้นพยายาม เพื่อทลายกำแพงออกจากการถูกจองจำในกรงขังแห่งความคิดหรือความรู้สึกร้ายๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้น หากเราตกอยู่ในภาวะที่เรือนใจกลายเป็นเรือนจำ การกลับมาอยู่กับตัวเอง การมองย้อนเข้าหาตัว กลับมามองหาเหตุภายในมากกว่า ตามเหตุภายนอก จะทำให้กรอบการจัดการกับความทุกข์ ตั้งรับกับภาวะอารมณ์ต่างๆ ดังกล่าว เหล่านั้นทำได้ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นการเิริ่มต้นถูกทาง ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีการหลบหลีก การปะทะด้วยสติปัญญา การปรับเปลี่ยนปรับตัว และพิจารณาหาหนทางกำหนดท่าที หรือการเจรจา เพื่อจัดการแก้ไขที่มาของอารมณ์ด้านลบที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ เพื่อที่จะปลดปล่อยใจให้เป็นอิสระจากการถูกจองจำอีกครั้งหนึ่ง วัยรุ่นเป็นวัยที่มีจินตนาการ และพลังแห่งการสร้างสรรค์เรียนรู้ที่ล้นเหลือ ขณะเดียวกัน ก็มีข้อเรียกร้องส่วนตัวสูง ไม่ว่าทางกายภาพ และทางอารมณ์ จากสังคม และบุคคลที่เขาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อแม่ เพื่อนฝูง หรือคนที่ตนรัก ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจ และสังคมรอบข้างตัวเขา มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้สภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ไม่สอดคล้องกับจินตนาการ พลังแห่งการสร้างสรรค์เรียนรู้ และข้อเรียกร้องส่วนตัวของเขา ในขณะเดียวกัน ความผันผวนเปลี่ยนแปลง ยังเกิดผลกระทบด้านลบ ที่เป็นภัยโดยตรงต่อตัววัยรุ่นเอง วัยรุ่นที่ขาดความสามารถในการควบคุมตนอย่างเพียงพอ จะไม่มีความพร้อมในการรับมือ กับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเหล่านั้น วัยรุ่นเหล่านี้จะรู้สึกสับสน และมีพฤติกรรมแปรปรวน หรือเปลี่ยนไปตามอิทธิพล ของผลกระทบอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้น ซึ่งปรากฏเป็นปัญหาต่างๆ ที่เห็นกันอยู่
สำหรับวัยรุ่นที่ขาดพื้นฐานในการควบคุมตน และจัดการกับอารมณ์ ผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบดูแล จะเหนื่อยหลายเท่าตัว เนื่องจากวัยรุ่น เป็นวัยที่นับวันจะเหินห่างจากผู้ใหญ่ที่เคยใกล้ชิด แต่จะหันหาสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ ที่เขาต้องการทดลองและเรียนรู้ ซึ่งยิ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้จูนคลื่นกันไม่ติด หรือพูดกันไม่รู้เรื่อง สำหรับผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดวัยรุ่นนั้น การสื่อสารบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจในอารมณ์ และเอกลักษณ์เฉพาะในช่วงวัยของเขา ในยุคของเขา โดยไม่เอาเงื่อนไขหรือความต้องการที่เกิดจากอคติเฉพาะตัวเข้าไปแทรก จะทำให้เห็นช่องทางช่วยเหลือให้วัยรุ่นที่ตนดูแลอยู่ ลดความสุ่มเสี่ยงต่อภัยอันตราย ลดความสับสนต่อความผันผวนทางอารมณ์และทางสังคมที่เขาประสบพบเจอ ส่งเสริมพลังแห่งการสร้างสรรค์เรียนรู้ที่เขามีอยู่ ทั้งยังเป็นทางให้สามารถสร้างความเข้าใจและการยอมรับ ในความเห็นและความต้องการของกันและกัน ระหว่างผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดและตัววัยรุ่นเอง วันที่ ๒๐ ของทุกเดือน เป็นวันเริ่มต้นการอบรมจิตภาวนา หลักสูตรสำหรับชาวต่างประเทศ ที่ทีปภาวันธรรมสถาน เดือนนี้มีชาวต่างประเทศทั้งหมด ๔๐ คน จากหลากหลายชาติเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรนี้ การอบรมจะไปสิ้นสุดในวันที่ ๒๗ ของทุกเดือน
โดยทั่วไปแล้ว เหตุผลของการลงมือแสวงหาคุณค่าทางจิตใจ ของแต่ละคนมีความแตกต่าง และมีทีี่มาไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกเป็นทุกข์ และเคร่งเครียด เนื่องจากถูกบีบคั้นจากรูปแบบการดำเนินชีวิต ทีต้องทั้งแข่งขันและแก่งแย่งช่วงชิง บางคนรู้สึกเบื่อหน่ายวิถีชีวิตที่ต้องดิ้นรนอย่างไม่มีที่สิิ้้นสุด โดยไม่รู้ว่าที่ต้องดิ้นรนแทบเป็นแทบตายนั้น เพื่ออะไร เพื่อใครกันแน่ บางคนอาจจะต้องการเพียงสนองความสงสัยอยากรู้ บางคนอาจจะต้องการแสวงหาความสุขอย่างใหม่ หรือบางคนอาจลองทำตามกระแสความนิยม ไม่่ว่าแต่ละคนจะมีเหตุผลที่มาอย่างไร อย่างน้อย เมื่อทุกคนมีแนวทางร่วมกัน คือ การหันมาให้ความสำัคัญกับการฝึกฝนใจ ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของชีวิต และเป็นกลไลหลักของการดำเนินชีวิต โดยอาศัยพุทธวิธีแล้ว สิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือ ความเข้าใจตนเอง ความเข้าใจชีวิต และความสามารถในการใช้ชีวิตได้อย่างถูกต้องขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้แต่ละคน มีโอกาสเข้าถึงคุณค่าทางใจที่ตนต้องการแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ยังจะทำให้สังคมรอบข้าง ที่บุคคลนั้นอยู่ร่วมด้วย พลอยได้รับประโยชน์จากการฝึกฝนตนของเขาไปด้วยโดยอัตโนมัติ เช่นนี้ บุคคลนั้น จึงชื่อว่ากำลังสร้างสรรค์คุณค่าให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น วันอาทิตย์ที่ ๒๐ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ ๓ ของเดือน ทางทีปภาวันธรรมสถานได้จัดกิจกรรมอบรมจริยธรรมเบื้องต้น แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา เกาะสมุย อีกครั้งหนึ่ง โดยในสัปดาห์นี้ มีนักเรียนพร้อมด้วยคุณครูจาก ๖ โรงเรียน นำนักเรียนประมาณ ๘๐ คน เข้าร่วมอบรมกิจกรรมในวันนี้ มีพระวิทยากร ๒ รูป คือ พระอาจารย์มานพ จากสวนโมกขพลาราม และพระอาจารย์มาลา จากวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เมตตามาให้การอบรมจริยธรรมครั้งนี้
บรรยากาศการอบรมวันนี้ เต็มไปด้วยสาระและบันเทิง จากสไตล์การบรรยายของพระอาจารย์ทั้งสองท่าน ที่ครบครันทั้งเนื้อหา และสอดแทรกความสนุกสนานตลอดรายการ วันนี้เราจึงได้เสียงหัวเราะจากน้องๆ ดังทั่วสวนธรรมเภรีเป็นระยะๆ วันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวันแห่งสาระประโยชน์ที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างสรรค์และส่งเสริม เพื่อต่อเติมให้บุตรหลานตัวน้อยของเรา เติบโตเป็นบุคลากรที่เข้มแข็งและทรงคุณค่า ของสังคมในอนาคตต่อไป (อ่านรายงานโดยละเอียดในเว็บไซด์คลิ๊ก ที่นี่) เดือนกุมภาพันธ์นี้ ทีทีปภาวันธรรมสถาน นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมอบรมการปฏิบัติธรรม ตามหลักสูตรปกติแล้ว ยังมีบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ จากโรงพยาบาลตรัง จำนวนกว่า ๔๐ คน เข้ารับการอบรมตั้งแต่วันที่ ๖ จนถึงวันที่ ๙
และขณะนี้ มีนักศึกษาจากโรงเรียนสมุยบริหารธุรกิจ ๔๕ คน พร้อมด้วยอาจารย์อีก ๒ ท่าน เข้ารับการอบรม โดยจะอยู่อบรมธรรมะปฏิบัติที่ทีปภาวันธรรมสถาน จนถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ โดยมีพระอาจารย์์มานพจากสวนโมกขพลาราม ทำหน้าที่เป็นพระวิทยากร ผู้ให้การอบรม นอกจากนั้น วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ของเดือนนี้ ยังเป็นวันมาฆะบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเป็นคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ แก่ภิกษุอรหันตขีณาสพ ๑,๒๕๐ รูป ที่วัดพระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ วันนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต คือ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๔ อย่างเกิดประชุมพร้อมกัน คือ ๑. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) ๒. ภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (ภิกษุผู้เคยเป็นชฎิล ๑,๐๐๐ องค์ ที่ฟังอาทิตตปริยายสูตรแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ และภิกษุผู้เป็นบริวารเก่าของพระอัครสาวกทั้ง ๒ อีก ๒๕๐ องค์) ๓. ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้ทรงอภิญญา ๖ ๔. ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุ ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธองค์ การประชุมในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญมากต่อการประดิษฐานพระศาสนา ถือเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้มอบนโยบาย อันเป็นหัวใจ หลักการ เป็นอุดมการณ์ ของพระพุทธศาสนา ให้พระสาวกได้รับทราบตรงกัน ก่อนที่จะได้แยกย้ายกันไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยินดีต้อนรับ ผู้เข้าเยี่ยมชมทุกท่าน เว็บไซด์แห่งนี้ จัดทำขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแผ่กิจกรรมของ สถานปฏิบัติธรรม ทีปภาวันธรรมสถาน และมูลนิธิทีปภาวัน
|
ยินดีต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมทุกท่าน หน้าบล็อกนี้ เป็นทีประกาศข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทั่้วๆ ไปของทีปภาวันธรรมสถาน และนำเสนอบทความธรรมะ หรือข้อคิดสั้นๆ เกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตทั่วไป
คลังบทความ
December 2012
หัวข้อบทความ
All
|