ทีปภาวัน... กับวิถีทางและอุดมการณ์
กล้าพันธุ์แห่งสัมมาิทิฐิ....
ความทุกข์หรือความจำเป็นที่บีบคั้นในรูปแบบต่างๆ ทำให้คนเราต้องแสวงหาที่พึ่งและจำเป็นต้องมีที่พึ่ง นับตั้งแต่ อาชีพการงานเพื่อใช้แลกกับปัจจัยสี่ และสิ่งอำนวยความสะดวก มาบำรุงเลี้ยงร่างกาย รวมถึงต้องอาศัยพ่อแม่ญาติพี่น้อง สมบัติพัสถานบรรดามี ทั้งหมดนั้นคือ ที่พึ่งของชีวิต
แต่ที่พึ่งเหล่านี้ มีข้อจำกัด เพราะความจำเป็นและความต้องการบางอย่างในชีวิต บุคคลหรือทรัพย์สมบัติต่างๆ เหล่านั้น ไม่สามารถให้ได้ หรืออาจจะ ให้ได้ ช่วยได้ แต่ช่วยหรือให้ไม่ได้ทั้งหมด
ความจำเป็นที่บุคคลหรือสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ช่วยหรือแก้ไขให้ไม่ได้ คือ ความสามารถในการรับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ภายในใจซึ่งเป็นเรื่องส่วนตนที่แต่ละชีวิตประสบ
เพราะแม้ว่าคนเราจะพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ด้วยทรัพย์สินสมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ และบริวารแวดล้อม ทั้งพ่อแม่พี่น้องผองญาติ แต่ยังมีปัญหามากมาย ความทุกข์อีกหลากหลาย ที่บุคคลหรือสิ่งเหล่านั้นช่วยไม่ได้ ทั้งจิตใจยังอาจอ้างว้างว้าเหว่ รู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกขาดเขิน รู้สึกหวาดหวั่น หรือ รู้สึกกลัวกังวลได้ ในขณะที่แม้กำลังอยู่ท่ามกลางความพรั่งพร้อมเหล่านั้น
การฝึกฝนเรียนรู้เพื่อให้สามารถรับมือและแก้ไขความทุกข์ จึงเป็นความจำเป็นภายใน หรือเป็นที่พึ่งภายใน ซึ่งต้องสร้างฝึกฝนด้วยตนเอง คนที่ฝึกฝนจนมีที่พึ่งภายในจะไม่ต้องออกจากทุกข์ด้วยวิธีการผิดๆ และไม่สูญเสียในสิ่งที่ไม่ควรสูญเสีย และจะได้รับในสิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วควรจะได้รับ
ความทุกข์ชนิดธรรมดาสำหรับคนหนึ่ง สำหรับบางคนแล้ว ต้องจ่ายค่าแก้ทุกข์ด้วยสิ่งที่มีมูลค่าสูงลิ่ว หลายคนยอมแลกด้วยอะไรก็ได้ โดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะตามมา เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์หรือปัญหาที่ตนกำลังประสบ เขายอมแลกแม้ด้วยการทำลายชีวิตของตนเองก็ยังได้ หากเขาเห็นว่า ชีวิตทำให้เขาเป็นทุกข์ เราจึงมักเห็นตัวอย่างอยู่เสมอ ของคนที่คิดว่า กำลังแก้ไขทุกข์ หรือหาความสุข แต่ที่แท้แล้ว เขากลับกำลังสร้างทุกข์ให้กับชีวิตโดยตรง
สิ่งที่ถูกสรรหา และสรรสร้าง มาเป็นเครื่องมือดับทุกข์ให้กับคน อาจแลกด้วยความสูญเสีย ความไม่สมดุลเกินพอดี ความไม่คุ้มค่า และผลกระทบคือความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ชีวิตกำลังพึ่งพาอยู่ อย่างมากมายมหาศาล
คนทั่วไปมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่แตกต่างกันคือวิธีการออกจากความทุกข์ของแต่ละคน และสิ่งที่ทำให้วิธีแสวงหาความพ้นทุกข์ต่างกันคือ ทิฐิ หรือหลักการ ความเชื่อ ความคิดเห็น อันเป็นข้อสรุป เป็นการให้ความหมาย เป็นการตีค่า ตีราคา ต่อสิ่งที่ชีวิตแต่ละคนได้สัมผัสรับรู้ ซึ่งทิฐิของแต่ละคนต่างกันไปตามพื้นเพภูมิหลังที่ซึมซับสั่งสมมา จากประการณ์ การเรียนรู้ และจากการถ่ายทอดจากสังคมของตน
พระพุทธศาสนามีหลักการสำคัญในเรื่องนี้อยู่ว่า คนจะพ้นทุกข์ได้เพราะรับเอาสัมมาทิฐิเป็นหลักดำเนินชีวิต เพราะคนที่ขาดสัมมาทิฐิ จะทำชีวิตซึ่งเรียบง่ายอยู่แล้ว ให้ยุ่งยาก หรือทำชีวิตซึ่งยุ่งยากเพราะความทุกข์อยู่แล้ว ให้ยุ่งขึ้นไปอีก สัมมาทิฐิ จึงเป็นหลักการสำคัญอันดับแรกที่จะนำพาชีวิตให้รอดพ้นจากความทุกข์
เพราะหากมีทิฐิที่ถูกต้อง ความทุกข์จะไม่พาชีวิตเข้าหาหนทางที่พลัดห่างจากความพ้นทุกข์ที่แท้จริง
หากมีทิฐิที่ถูกต้อง ความทุกข์ของชีวิตแต่ละคนจะไม่ถูกนำไปเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ผิดๆของบุคคลอื่น
หากมีทิฐิที่ถูกต้อง ชีวิตจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้อื่นไปทำสิ่งที่มีผลร้ายผลเสียโดยไม่รู้ตัว
หากมีทิฐิที่ถูกต้อง ชีวิตจะไม่ติดหรือถูกหลอกด้วยรูปแบบและพิธีกรรมที่ดูน่าเชื่อถือ จนละเลยสิ่งที่เป็นหลักการแก่นสารของแนวทางพ้นทุกข์ หรือแนวทางที่ไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง
หากมีทิฐิที่ถูกต้อง ชีวิตจะไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิความเชื่อแปลกๆ ที่แฝงภัยอันตรายมาให้
และหากมีหากมีทิฐิที่ถูกต้อง ชีวิตจะไม่พลาดพลั้งทำผิดด้วยการสร้างทิฐิผิดใหม่ๆ ขึ้นมา หรือนำพาชีวิตของผู้อื่นไปสู่หนทางที่ผิด ทำให้ผู้อื่นต้องพบกับความทุกข์ หรือความเนิ่นช้าในการออกจากความทุกข์
ธรรมชาติมีข้อจำกัด มีกฎเกณฑ์ที่หากไปฝ่าฝืนแล้ว ความทุกข์จะเกิดขึ้น (เป็นต้นว่า กฎกรรม กฎไตรลักษณ์ กฎของความเป็นเหตุเป็นปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย ) สัมมาทิฐิ หรือ การมีทิฐิที่ถูกต้องถูกทาง คือ การรับเอากฎเหล่านี้มาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ จนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับกฎเหล่านี้ เพื่อให้ความทุกข์ค่อยๆลดลง กระทั่งอยู่อย่างไม่ต้องมีความทุกข์ในที่สุด
แท้จริงแล้ว ทุกชีวิตไม่ต้องการปัญหาความทุกข์แบบไม่มีที่สิ้นสุด และต่างก็กำลังขวนขวายหาทางออก หาหนทางดำเนินชีวิตที่ดีให้กับตนเอง การตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ชีวิตจะได้ไม่ตกเป็นทาสรับใช้ทิฐิผิดดั้งเดิม หรือไม่เผลอรับเอาทิฐิที่ผิดอื่นใดมาเป็นเครื่องมือดำเนินชีวิต ชีวิตจะได้พ้นจากปัญหาได้อย่างแท้จริง และพบกับความสุขแท้ แทนที่จะอยู่ในวังวนแห่งปัญหาและความทุกข์ และถูกยึดโยงอยู่กับความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน
ถึงวันนี้ ทีปภาวันธรรมสถาน ยังทำหน้าที่ในการเป็นสถานที่ฝึกหัดสร้างที่พึ่งภายใน ด้วยการขยายกล้าพันธุ์แห่งสัมมาทิฐิให้กับประชาชนมากมาย ผู้ขวนขวายสร้างที่พึ่งสำหรับชีวิตตนเอง ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อให้สัมมาทิฐิเติบโตงอกงาม เป็นหลักชัยให้กับชีวิตเขาเหล่านั้น ทั้งเป็นเครื่องช่วยต้านทานความทุกข์ และเป็นสิ่งนำพาชีวิตให้พบกับที่พึ่งพิงอันมั่งคงและปลอดภัยตลอดไป
ผลของความพยายาม และร่วมมือร่วมใจส่งเสริมสัมมาทิฐิให้แพร่หลาย คือสันติสุขในชีวิตส่วนบุคคล และสันติภาพในสังคมส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมต้องการและแสวงหา อุดมการณ์และการดำเนินงานของทีปภาวันธรรมสถาน ถือเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงและความพยายามอันสำคัญที่จะทำให้สิ่งที่สังคมคาดหวังร่วมกันเป็นจริงขึ้นมาได้
x