Dipabhāvan Meditation Center,Koh Samui,Thailand

  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับทีปภาวัน
    • ความเป็นมา
    • มูลนิธิทีปภาวัน
    • โครงการปลูกป่า
    • บทความสิ่งแวดล้อม
  • อาคารสถานที่
    • แนะนำอาคารสถานที่
    • ศาลาปฏิบัติธรรม
    • อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรมสุภาพสตรี
    • ทางเดินภายในพื้นที่
    • สวนธรรมเภรี
    • สวนป่าศิขรินสินธุ
    • สวนสมคิดกฤษณาสาระภู
    • ห้องครัวทีปภาวัน
  • ตารางการฝึกอบรม
  • สมัครเข้าอบรม
  • ภาพกิจกรรม
  • การเดินทาง
  • ข่าวสารและกิจกรรม
  • โครงการธรรมะนำ ทำเกาะสมุย ให้ทันสมัย
  • พระภาวนาโพธิคุณ
  • วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ

12/31/2012

ปีใหม่ในโลกใบเก่า

Read Now
 
Picture
        สรุปว่า เมื่อโลกนี้ยังไม่แตกสลายไปในช่วงท้ายปี ตามคำทำนายที่กล่าวขวัญถึงและโจษจันกัน เราก็ต้องใช้ชีวิตในโลกใบเก่านี้ต่อไป ด้วยการเริ่มต้นเข้าสู่ศักราชใหม่ คือ พุทธศักราช ๒๕๕๖ และ คริสตศักราช ๒๐๑๓  เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ในโลกไม่เชื่อในคำทำนายนี้ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่ออย่างเป็นตุเป็นตะ  จนถึงกับมีการเตรียมรับมือกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันเลยทีเดียว  แต่อย่างไรก็ตาม ชีวิตบนโลกนี้ต่างก็ทยอยแตกดับลาลับจากโลกนี้ไปก่อนทุกขณะอยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะนี้ อุบัติเหตุจากความประมาทของผู้ขับขี่ยวดยานบนท้องถนนระหว่างการเดินทาง ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ ยังมาเป็นเหตุปัจจัยลัดคิวและเร่งเวลาลาโลกให้กับอีกหลายชีวิต

           ตราบใดที่ชีวิตยังดำเนินต่อไป โดยเนื้อหาใจความแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนๆ ชีวิตก็คงไม่มีอะไรต่างออกไปนัก คือ ในแต่ละวันแต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ ทำหน้าที่ตามบทบาทฐานะของตนอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงหรือคตินิยมการขึ้นต้นศักราชใหม่ ก็มาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในหลายด้านอย่างปฏิเสธไม่ได้  เช่น  การเฉลิมฉลอง  การหยุดพักผ่อน และการพบปะเยี่ยมเยือนพ่อแม่ญาติพี่น้อง เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมทีมีกติกาและข้อกำหนดร่วมกันหลายอย่าง แต่ละคนจึงมีส่วนร่วมในบรรยากาศหรือกิจกรรมของเทศกาลปีใหม่ไม่มากก็น้อย
   
         นอกจากเราจะใช้เวลาในช่วงขึ้นปีใหม่ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามคตินิยมของสังคมตามที่กล่าวแล้ว ในอีกด้านหนึงนั้น ควรใช้เวลาช่วงนี้เพื่อตั้งหลักพักยกให้กับชีวิต  ด้วยการหยุดพักหายใจยาวๆ แล้วตั้งสติสำรวจตรวจสอบการใช้ชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมาในแง่มุมต่างๆ ให้ถี่ถ้วนรอบคอบ การมีโอกาสพิจารณาอะไรต่างๆ อย่างมีสติ จะช่วยให้เข้าใจชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น ได้คติข้อคิดที่เป็นประโยชน์ ในการนำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาชีวิต ตามบทบาทหรือสถานะที่ตนเป็น ตามหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ เพื่อให้ชีวิตได้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมีความสุขและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการนำชีวิตเข้าใกล้เป้าหมายที่ได้วางไว้

             กิจกรรมต่างๆ ที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่นั้น จึงอาจเป็นที่มาของคุณหรือโทษก็ได้   ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเกี่ยวข้องในด้านไหน ดังนั้น สำหรับบางคน ที่มีสติรอบคอบ รู้จักประมาณตนเอง ช่วงปีใหมู่ก็จะ็เป็นช่วงแห่งการพักผ่อนและเตรียมความพร้อม เพื่อนำพาชีวิตไปพบกับสิ่งดีๆ ในปีหน้า แต่สำหรับบางคน ที่ปล่อยใจจนเลยเถิด และไม่มีสติควบคุมตนเอง ช่วงปีใหม่ก็อาจเป็นช่วงแห่งการใช้ชีวิตที่ขาดสติมากที่สุด มากกว่าช่วงใดๆ ของปีก็ได้

Share

10/10/2012

ความสุขที่หายไป

Read Now
 
Picture

                  ความสุขที่หายไป (หายไปไหนหนอ ?....) 
               

       เหนื่อยใช่ไหม ล้าใช่ไหม ท้อใช่ไหม หาความสุขในชีวิตไม่เคยเจอใช่ไหม ผิดหวังอยู่เรื่อยใช่ไหม ความรู้สึกเช่นว่านี้ ไม่มีทีท่าว่าจะหายไปจากชีวิตนี้ใช่ไหม   ถ้าใช่  ลองตอบคำถามเหล่านี้ด้วยความตั้งใจ และซื่อตรง อาจจะหาคำตอบให้กับตัวเองได้..... 


        -  เราดิ้นรนเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินกำลังหรือเปล่า?

        -  จุดมุ่งหมายในชีวิตที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้มาอยู่ในขณะนี้ ให้ความสุขได้จริงหรือเปล่า เป็นเพียงสิ่งเดียวในชีวิตที่ให้ความสุขเราหรือเปล่า? คิดว่า เมื่อได้มันมาแล้ว เราจะมีความสุขแท้จริงไหม หรือเพียงคิดไปเอง เชื่อไปเอง

        - จากคำถามที่แล้ว ถ้าใช่  ที่เราไปไม่ถึงความสุขนั้นเสียที เพราะเรามีข้อบกพร่องใดๆ หรือเปล่า ที่ทำให้ไปไม่ถึง เช่น ขี้เกียจเกินไป ขยันไม่พอ งอมืองอเท้า มัวแต่นั่งนอนวาดวิมานในอากาศ

        -  เราเรียกร้องจากผู้อื่นมากเกินไปไหม หรือเรียกร้องแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่เคยเป็นผู้ให้เลยหรือเปล่า?  ถ้าใช่ ก็แน่นอนล่ะ ไม่มีใครอยากมีน้ำใจ กับคนที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียวตลอด

      - เราเคยมองข้อบกพร่องของตนเองบ้างไหม หรือมัวแต่โทษผู้อื่น โทษสังคม โทษสิ่งรอบข้าง

      - สิ่งที่เราดิ้นรนไขว่คว้านั้น เมื่อได้มาแล้ว มันทำให้เราเกิดความสุขได้นานไหม หนึ่งชั่วโมง ครึ่งวัน หนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์  หนึ่งเดือน หนึ่งปี  ........ หรือ เพียงเหมือนเด็กบางคน ที่เบื่อของเล่นใหม่ภายใน หนึ่งวัน แล้วขอของเล่นอันใหม่อีก....... 

      - เพดานความหวังของเราสูงเกินไปไหม ถ้าใช่ ลองลดเพดานความหวังนั้นลงอีกสักนิดหนึ่งพอได้ ไหม

      - เราเรียกร้องจะเอาอย่างเดียว โดยไม่ยอมเสียสละบ้างเลยหรือเปล่า
                                                            
      - เราตีค่าความสุขสูงเกินไปไหม จนมองข้ามความสุขอื่นๆ ที่อยู่ภายในตัวเอง หรือที่อยู่รอบตัวอยู่แล้ว ลองมองหาบ้าง เมื่อเจอแล้ว สุขใกล้ตัวอาจจะมีค่าล้ำกว่าสุขที่มีอยู่แต่ในความคาดหวังว่าจะได้ (ซึ่งไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน)

                          (ก่อนอ่านคำถามข้อต่อไป ลองมีสติรู้ลมหายใจเข้า ลมหายออกใจ หนึ่งครั้ง)

      - เราสร้างมาตรฐานการดำเนินชีวิตทางวัตถุสูงเกินจำเป็นไหม จนทำให้ต้องมีข้อเงื่อนไข บีบคั้นชีวิตอยู่ตลอดเวลา อย่างไม่รู้ตัว ถ้าใช่ ลองหัดจมให้ลง ปลงให้ตก สัมผัสไอดิน กลิ่นทราย บ้าง

      - ลองสังเกตว่า ชีวิตถูกสิ่งที่เรียกว่า “วัตถุแห่งความสุข” หลอกให้วิ่งหา จนเมื่อได้เจ้าความสุขนั้นมาแล้ว ก็ยังถูกหลอกให้วิ่งหาความสุขอื่นๆ อีกต่อไปไหม?

     - การแสวงหาความสุขของเรา “ชอบธรรม” พอที่จะไม่นำความทุกข์ย้อนกลับมาเป็นของแถมที่ไม่ต้องการให้ในภายหลังไหม?

     - เราเคยมองสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหา”  “ความทุกข์” “ความสุข” “เหตุการณ์ สถานการณ์ต่างๆ” “บุคคลต่างๆ” อย่างรอบด้าน หลายแง่มุมไหม ทั้งด้านบวก ด้านลบ มุมมองของเรา มุมมองของคนอื่น?

     - เรามีบุคลิกใจเร็วด่วนได้ ไม่รู้จักรอเวลาที่เหมาะสมหรือเปล่า?

     - หากเรามั่นใจว่า เหตุการณ์บางอย่างเราเป็นผู้ถูกกระทำ  ลองมองย้อนกลับไปดูว่า เราเคยเป็นผู้กระทำต่อคนอื่นบ้างไหม ?  หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังเป็นไปนี้ เราอาจกำลังกระทำคนอื่น แต่เข้าใจไปว่าถูกคนอื่นกระทำก็ได้ 

    - เราพยายามบังคับใครต่อใคร ให้เป็นไปตามที่เราต้องการมากไปไหม หรือเราพยายามบังคับตัวเองให้เป็นไปตามที่คนอื่นต้องการเกินไปไหม?

     - เวลาที่ทำความดี ในใจของเรายังเรียกร้องให้คนยกย่องสรรเสริญ อยากให้คนอื่นเห็นหรือเปล่า  เรายังหวังผลตอบแทน หรือคาดคั้นจะเอาผลตอบแทนให้ได้หรือเปล่า? ถ้าใช่แสดงว่าเรายังเป็นคนดี ที่ขี้น้อยใจอยู่ เป็นคนดีแบบมีเงื่อนไขอยู่ ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถสัมผัสคุณค่าแห่งความดีที่แท้จริงได้

    -  เราลืมความจริงไปหรือเปล่าว่า ไม่มีใครสมหวังดังใจทุกอย่างในโลกนี้ คนส่วนใหญ่ล้วนแต่ผิดหวัง ไม่สมปรารถนาทั้งนั้น การดิ้นรนให้ชีวิตสมหวังสมอยากสมปรารถนา จึงไม่ใช่ทางจบเรื่องราวความทุกข์ความวุ่นวายได้ แม้จะเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ทำได้ยาก  แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า  “การหยุดความอยากได้ คือ ที่สุดแห่งทุกข์ทั้งปวง ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกขํ ชินาติ”

อ่านคำถามจบแล้ว

ลองมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก อีกสักครั้ง ด้วยความผ่อนคลาย ปล่อยใจให้สบาย วางภาระไว้ก่อน แค่เพียงหนึ่งช่วงลมหายเข้าออก ...... นี่อาจเป็นหนทางที่ง่ายๆ ของการเรียกความสุขกลับมาำก็ได้

Picture
เกาะสมุย มุมมองจากเกาะแตน

Share

3/19/2011

บูรณภาพทางพระศาสนา

Read Now
 
        พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีเอกลักษณ์ที่กล่าวได้ว่ามีแบบฉบับเฉพาะตัว ในฐานะที่เป็นชาวพุทธไทย การมองภาพพระศาสนาในเมืองไทยอย่างเข้าใจ จนสามารถมองเห็นองค์รวมทั้งหมดได้  จะทำให้สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติตัวได้อย่างสอดคล้อง และถูกต้องเหมาะสม จนได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่สถานะ 

       เริ่มจากองค์ประกอบด้านรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุด อันดับแรก จะเห็น ศาสนพิธี หรือพิธีกรรมทางศาสนา เริ่มตั้งแต่ พิธีสมาทานศีล การปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ พิธีทำบุญต่างๆ  นอกจากนั้นยังมี ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนปฏิบัติ


      ศาสนพิธี       เป็นจุดเริ่มแห่งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

      ศาสนวัตถุ เป็นประจักษ์พยานของการปรากฏของพระศาสนาในทางรูปธรรม เช่นพระพุทธรูป ที่จารึกพระธรรม รวมไปถึงโบราณวัตถุที่แสดงการสืบทอดของพระพุทธศาสนา

     ศาสนสถาน เช่น วัดวาอาราม สถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นต้น เป็นที่รวมกลุ่มกันแห่งพุทธศาสนิกชน เพื่อประกอบกิจทางศาสนา

     ศาสนธรรม คือ หลักการของพระศาสนาที่เป็นหลักปฏิบัติ เป็นใจความสาระ ของพระศาสนา

   ศาสนบุคคล คือ พุทธบริษัท ผู้นับถือพระศาสนา ปฏิบัติกิจของพระศาสนา ปฏิบัติตามหลักธรรมในพระศาสนา

   ศาสนปฏิบัติ  คือ การนำเอาศาสนาธรรม มาปฏิบัติในชีวิตจนเห็นผล

    สรุปว่า  พุทธศาสนิกชน  คือ ศาสนบุคคล  ผู้อาศัย ศาสนพิธี เพื่อเชื่อมโยงนำชีวิตเข้าหา ศาสนธรรม แล้วเรียนรู้ศาสนธรรม นำไปสู่ ศาสนปฏิบัติ  โดยมี ศาสนวัตถุ เป็นประจักษ์พยานทางรูปธรรม ที่เห็นและจับต้องได้ เป็นประตูเริ่มแรกสำหรับการเริ่มต้น หรือสำหรับผู้เริ่มต้น เข้าหาพระศาสนา และมี ศาสนสถาน เป็นสถานที่ประกอบกิจในพระศาสนา

           ดังนั้น  โดยอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ภาพรวบยอดของพระศาสนา  จะปรากฏอยู่ที่ตัวศาสนบุคคลในพระศาสนา ที่ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่ถูกต้องตรงตามธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งธรรม ที่พระศาสดาทรงประทานไว้  คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เรียบร้อย ไม่เป็นไปเพื่อก่อทุกข์โทษ ไม่เป็นไปเพื่อการเบียดเบียนตน และผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อน แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขอันยั่งยืน ของตนเองและผู้อื่น

          การมองภาพรวมของพระศาสนาได้ จะทำให้เข้าใจประโยชน์และความจำเป็นขององค์ประกอบต่างๆ ที่เกื้อกูลและส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา โดยไม่แยกส่วนหรือดูดายดูแคลนส่วนหนึ่งส่วนใด จะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม

         จุดสำคัญอยู่ที่การเชื่อมโยงองค์ประกอบของพระพุทธศาสนาให้ครบส่วน     ไม่หยุดหรือจบเพียงในส่วนศาสนพิธี ศาสนสถาน หรือศาสนวัตถุเท่านั้น แต่ควรพยายามเชื่อมโยงหรือยกระดับเข้าหาศาสนธรรม และศาสนปฏิบัติ โดยมีศาสนบุคคลเป็นแกนกลางในการประสานทุกส่วนเข้าด้วยกัน

    เนื่องจากทุกองค์ประกอบล้วนมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น การมองภาพพระศาสนาในประเทศไทยด้วยความเข้าใจในองค์ประกอบเหล่านี้ จะทำให้สามารถประยุกต์และประสานวิถีไทยให้ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา จนพัฒนาศาสนบุคคลให้มีคุณภาพ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้กับประเทศและสังคมได้อย่างเต็มที่


 

Share

3/18/2011

อรติ โลกนาสนิกา

Read Now
 
Picture



                        ความเกลียดชัง พังโลกให้พินาศ

 

            ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุแห่งความพินาศของโลกไว้ด้วยหลักพุทธภาษิตว่า      อรติ โลกนาสิกา ความเกลียดชัง เป็นเหตุให้โลกพินาศ  เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความเกลียดชังนั้น เป็นสาเหตุแห่งความวุ่นวายและพินาศย่อยยับของโลกใบนี้   
           
           ความเกลียดชัง เป็นความรู้สึกที่รับใช้อคติ ความริษยา ความแข่งดี การยึดมั่นในทิฐิ  และเป็นที่มาของความความขัดแย้ง ความรู้สึกแบ่งแยก ความแตกสามัคคี ความเกลียดชังทำให้เกิดการหาทางทำลายล้างคู่กรณีในที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ 

        ดังนั้น โลกซึ่งเป็นสถานที่รองรับความขัดแย้ง การแบ่งแยก ขาดความสามัคคี และเต็มไปด้วยพฤติกรรมแห่งการทำลายล้างกันในลักษณะต่างๆ อันมีสาเหตุจากความเกลียดชังของบุคคลบนโลก จึงเป็นโลกที่นับถอยหลังไปสู่ความวิบัติย่อยยับลงทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นโลกภายนอก หรือโลกภายใน

        โลกภายนอก ได้แก่ กลุ่มสังคม ทั้งในระดับนานาชาติ ประเทศชาติ องค์กร หน่วยงาน ชุมชน หรือ ครอบครัว  เมื่อความเกลียดชังเข้าครอบงำแล้ว ความเกลียดชังจะทำให้จิตใจ มืดมนและคับแคบ จนละเลยและลืมถึงประโยชน์สุข ซึ่งเป็นจุดหมายร่วมกัน ยิ่งถ้าหากความเกลียดชังนั้น ขยายไปสู่วงกว้าง สภาพของสังคมนั้น ก็จะไม่ต่างอะไรกับลักษณะที่เรียกกันว่า ไก่ที่จิกกันเองในเข่ง เพื่อรอเวลาที่จะถูกนำไปเชือด จึงอนุมานได้ไม่ยากว่า โลกที่มีลักษณะเช่นว่านี้ มีแต่จะถอยหลังไปสู่ความวิบัติล่มจมเท่านั้น

       โลกภายใน ได้แก่ กายใจ ของผู้ถูกความเกลียดชังครอบงำ ก็จะย่อยยับพินาศจากประโยชน์สุข หรือความเจริญก้าวหน้าที่ควรจะได้รับ เพราะเมื่อใจถูกความเกลียดชังครอบงำแล้ว แทนที่ผู้นั้นจะมีแก่ใจคิดเรื่องดีๆ ทำเรื่องดีๆ เพื่อพัฒนาตนพัฒนาชีวิต ก็จะพยายามหาทางเพ่งโทษจับผิด หาช่องทางทำลายล้าง เอาชนะคะคาน  จิตใจจึงมีแต่จะปั่นป่วนรุ่มร้อนกระวนกระวายตลอดเวลา  โดยเฉพาะถ้ามุ่งในทางธรรมนั้น ความเกลียดชังจะทำให้พบกับความพินาศอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด นั่นคือ ความพินาศจากคุณงามความดี 

        ความเกลียดชังบางอย่าง มีความดีหรือความถูกต้อง ที่มีรากฐานจากความยึดมั่นในทิฐิ เป็นเหตุผลรองรับ ความเกลียดชังชนิดนี้ จะถูกปกปิดด้วยข้ออ้างของความดี ความถูกต้อง จนเจ้าตัวมองไม่เห็นหน้าตาแห่งความเกลียดชังที่ซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน ทำให้ทั้งๆ ที่คิดว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่ก็หารู้ไม่ว่าตนกำลังรับใช้ความเกลียดชังอยู่อย่างไม่รู้ตัว

         ดังนั้น ความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้จะชื่อว่าเป็นไปด้วยความปรารถนาดี เพื่อให้ผู้อื่นทำหรือเชื่อในสิ่งถูกต้องเช่นตน แต่หากกระทำไป โดยมีความเกลียดชังกุมบังเหียนอยู่ภายในเช่นนี้  จะไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้เลย รังแต่จะเพิ่มความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นไป
     
         มีหลักการหลักธรรมอยู่หลายอย่าง ที่สามารถนำไปพิจารณาปฏิบัติเพื่อสลาย หรือคลายความเกลียดชัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเกลียดชังผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นเกลียดชังก็ตามได้แก่

-  หลักการเมตตา และให้อภัย

- การทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในแต่ละด้าน แล้วยอมรับข้อจำกัดในเรื่องนี้ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ หรือจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและเหตุปัจจัยอื่นอีกมากในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

- หลักการมองประโยชน์สุขส่วนรวม หรือมองเป้าหมายร่วมกัน ไม่เอาเรื่องเล็ก มาทำให้เสียประโยชน์ใหญ่ที่จะพึงได้รับ

- การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การนึกถึงอกเขาอกเรา 

- การลดราวาศอก การประนีประนอม การอะลุ่มอล่วย ดังคำที่ว่า ยอมไม่เป็นก็เย็นไม่ได้

- หลักการประสานประโยชน์ พบกันครึ่งทาง หรือ ถอยหลังคนละก้าว

- หลัก พุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “พึงเอาชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ เอาชนะความตระหนี่ ด้วยการให้ เอาชนะความไม่ดี ด้วยความดี ความชนะการพูดจาเหลาะแหละ ด้วยการพูดแต่คำสัจจริง”

- แม้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำใจได้ยาก ในสถานะการณ์แห่งความเกลียดชัง แต่พึงระลึกถึงความจริงว่า ศัตรูที่แท้จริงของเราคือ ความเกลียดชัง หาใช่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันไม่
        

      ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นความพินาศของโลกใบนี้ที่มนุษย์อาศัยอยู่ มาเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แล้วก็จากไป แต่ภัยพิบัติจากความพินาศของโลกคือสังคมและจิตใจ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และก่อภัยอันตรายได้อย่างยืดเยื้อ ตราบใดที่มนุษย์ปล่อยให้ความเกลียดชังเข้าครอบงำ
     

    แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทำให้ต้องมีเรื่องกระทบกระทั่ง และประสบเหตุให้เกิดความเกลียดชังจนได้ ไม่ว่าจะถูกเกลียดชัง หรือเกลียดชังผู้อื่น แต่การระมัดระวังและรู้เท่าทันความเกลียดชัง จะเท่ากับเป็นการช่วยโลกคือสังคมภายนอก และโลกคือชีวิตจิตใจภายใน ไม่ให้พบกับพินาศย่อยยับเพราะความเกลียดชัง                  

Share

3/15/2011

บทเรียนจากมหันตภัย

Read Now
 
              ความผันผวนแปรปรวนทางธรรมชาติ หลายครั้ง เป็นเหตุก่อภัยพิบัติที่รุนแรง คร่าชีวิตของมนุษย์และสัตว์ พร้อมทั้งทำลายทรัพย์สินไปอย่างมหาศาล สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับผู้ที่ประสบมหันตภัยทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ เหล่านั้น

              ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก การตั้งจิตส่งความปรารถนาดี และแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ปรารถนาจะให้ผู้ประสบชะตากรรมที่เลวร้ายเหล่านั้น พ้นจากความทุกข์เดือดร้อนโดยเร็ว เป็นเรื่องที่ควรกระทำ หรือหากพบช่องทางที่จะแสดงออกซึ่งความเห็นใจ และการช่วยเหลือได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรรีรอเช่นเดียวกัน

         น่ายินดี ที่ท่าทีจากหลายประเทศทั่วโลก ต่อเหตุการณ์มหันตภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นแก่ประเทศผู้ประสบภัย เป็นไปในทิศทางดังที่ว่า  แสดงให้เห็นว่า โลกนี้ ยังคงเป็นโลกของมนุษย์ ที่มีมนุษยธรรมค้ำจุนอยู่ และเป็นโลกที่มีความหวังว่า จะไม่ใช่เป็นโลกมนุษย์เฉพาะทางกายภาพเท่านั้น แต่มีมนุษยธรรมภายในใจรองรับอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ เป็นเหมือนมาตรวัดคุณภาพ ที่รับประกันสวัสดิภาพโดยภาพรวมของมนุษย์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

                 ธรรมชาติมนุษย์ทั่วไป มักจะมีความกรุณา เห็นใจต่อผู้ประสบทุกข์เสมอ แม้แต่ศัตรูคู่แค้นที่โกรธเกลียดกันมานาน หากพบว่าคู่กรณีกำลังย่ำแย่หนักๆ ถ้าไม่ใช่คนที่มีจิตใจหยาบหรือความแค้นไม่รุนแรงฝังรากลึกเกินไป  ความเคียดแค้นที่เคยมีมาก็อาจจะหลุดหายไปได้ไม่ยาก หรืออย่างน้อยความรู้สึกเช่นว่าก็อาจจะลดระดับลงบ้าง

                 ภัยพิบัติที่รุนแรงทั่วโลกทุกวันนี้ แสดงตัวอย่าง ของความไม่แน่นอนของชีวิตบนโลกใบนี้ หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชีวิตนอกจากจะไม่สามารถดำรงอยู่บนโลกนี้ได้อย่างยั่งยืนยาวนานแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยรอบด้านที่จะมาตัดรอนให้สั้นเข้าเสียอีก  ในมุมมองแบบพุทธต่อเรื่องนี้  คงจะไม่ใช่การรับรู้เหตุการณ์แล้ว เกิดความวิตกกังวลจนจิตตก แต่ควรเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยทำให้ได้ข้อคิดบางอย่าง เช่น

๑.    ควรดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อความปลอดภัยทางกายภาพ และความปลอดภัยทางจิตใจ ให้พร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด เพราะต่อไปนี้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะแม้จะอยู่ไกล ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะได้รับผลข้างเคียงแง่หนึ่งแง่ใดเสมอ

๒.   ควรเห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง ด้วยใช้เวลาในชีวิตให้คุ้มค่า และอย่างสร้างสรรค์ ใช้ชีวิตอันเป็นทุน ให้เกิดกำไร คือ ความสุขและสาระที่ยั่งยืน เพื่อจะได้ไม่ต้องมีเรื่องให้ต้องเสียดายหรือเสียใจภายหลัง  

๓.   เห็นคุณค่าของเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอันเป็นที่รัก และใช้เวลานั้นให้สมค่า จะได้ไม่มีคำว่า สายเกินไป มาทำให้ปวดใจทีหลัง เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะจอดที่สถานีโลกนี้ นานแค่ไหน อาจจะอีกไม่กี่ปี ไม่กี่เดือน ไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น บุคคลอันเป็นที่รัก เปรียบเหมือน ผู้ที่มาพบกันชั่วคราวระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตีตั๋วเดินทางต่อไปตามทิศตามทางของแต่ละคน

Share

3/8/2011

เมตตาวิหารี เมตตารินใจ

Read Now
 
                 การฝึกหัดให้จิตเกิดความเมตตา อันดับแรกต้องเริ่มต้นจากความเมตตาต่อตนเอง              ให้ได้และให้เป็นเสียก่อน และก่อนจะเมตตาตนเองได้ เราต้องมองจนเห็นชัดเจนด้วยใจจริงๆ เสียก่อนว่า ความมุ่งร้าย ความโกรธ ความเกลียด ทำให้เราเป็นทุกข์และน่ารังเกียจแค่ไหน  

               หากเรารักตนเองพอ เราจะไม่ปล่อยให้ความโกรธครอบงำใจ จนด่วนสนใจแต่ว่า เขาทำให้เราโกรธ หรือเราโกรธเขา   แต่เราจะสนแต่ว่า ความโกรธ ความเกลียด กำลังสุมใจให้ทุกข์ สติและความอดทนจะเกิด จนสามารถเข้าใจความจริงนี้ได้พอ ที่จะไม่ยอมปล่อยให้ใจเป็นทุกข์

           แม้หากยังไม่สามารถเมตตาต่อคู่กรณี หรือให้อภัยได้ในเดียวนั้น อย่างน้อย เราก็จะไม่เพิ่มเชื้อให้ความโกรธเพิ่มขนาดและปริมาณมากขึ้น จนโกรธกราดไปทุกเรื่องทุกคน นี่เป็นแบบฝึกหัดเริ่มต้น ของความเมตตาตนเอง หรือการปรารถนาให้ตนเองมีความสุข

             ที่สำคัญ หากไม่ฝึกความเมตตาเอาไว้เสมอในสถานการณ์ปกติ เราจะไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์แห่งความกระทบกระทั่ง ที่กำลังครุกรุ่นอยู่ได้เลย เพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใด น้ำแห่งเมตตาในใจที่แห้งขอด ย่อมแพ้ไฟแห่งโทสะ ที่กำลังโหมลุกไหม้ฉันนั้น

             ดังนั้น การฝึกจนสามารถสัมผัสกับความสุขแห่งเมตตาได้จนเห็นคุณค่าของความเมตตา ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น หรือเห็นได้ว่า ความเมตตา และการให้อภัยต่างหากที่เป็นคุณต่อตน ในขณะที่ความโกรธ การจองเวร เป็นทุกข์โทษทำให้ใจเป็นทุกข์รุ่มร้อน แล้วพยายามหัดสร้างความเมตตาผ่านทางคำพูด การกระทำ และทางใจ หัดวางท่าทีต่อโลก ต่อบุคคล ต่อสัตว์ บนพื้นฐานของความเมตตาอยู่เสมอ   ดังนี้ ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ กับบทเรียนแห่งการเผชิญกับความโกรธในสถานการณ์จริงได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

           

 

Share

<<Previous
Details
    Picture
    Click here to edit.

    ยินดีต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมทุกท่าน หน้าบล็อกนี้ เป็นทีประกาศข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทั่้วๆ ไปของทีปภาวันธรรมสถาน และนำเสนอบทความธรรมะ หรือข้อคิดสั้นๆ เกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิตทั่วไป

        

    คลังบทความ

    December 2012
    October 2012
    March 2011
    February 2011

    หัวข้อบทความ

    All
    อรติ โลกนาสิกา
    เรือนจำ เรือนใจ
    ครองโลก คลองธรรม
    ต้นทางธรรม ต้นทางชีวิต
    ข้อสอบชีวิต
    เมตตาวิหารี เมตตารินใจ
    ลัดฟ้ามาหาใจ
    แนะนำเว็บไซด์
    ความสุขที่หายไป
    บทเรียนจากมหันตภัย
    บูรณภาพทางพระศาสนา
    กิจกรรมเดือนกุมภาพันธ์
    กิจกรรมอบรมนักเรียนระดับประถมศึกษา
    วัยรุ่น วัยวุ่น วัยเรียน วัยรัก วัยลอง วū

    RSS Feed

Picture
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับทีปภาวัน
    • ความเป็นมา
    • มูลนิธิทีปภาวัน
    • โครงการปลูกป่า
    • บทความสิ่งแวดล้อม
  • อาคารสถานที่
    • แนะนำอาคารสถานที่
    • ศาลาปฏิบัติธรรม
    • อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรมสุภาพสตรี
    • ทางเดินภายในพื้นที่
    • สวนธรรมเภรี
    • สวนป่าศิขรินสินธุ
    • สวนสมคิดกฤษณาสาระภู
    • ห้องครัวทีปภาวัน
  • ตารางการฝึกอบรม
  • สมัครเข้าอบรม
  • ภาพกิจกรรม
  • การเดินทาง
  • ข่าวสารและกิจกรรม
  • โครงการธรรมะนำ ทำเกาะสมุย ให้ทันสมัย
  • พระภาวนาโพธิคุณ
  • วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ